“ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตกนะ เดี๋ยวถูกฟ้าฝ่า” เชื่อได้ว่าประโยคนี้หลายคนคงเคยได้ยินมา และหลายคนก็ฝังใจว่าการใช้โทรศัพท์ขณะฝนตกจะถูกฟ้าผ่า แล้วมันจริงหรือไม่ มาไขคำตอบให้หายข้องใจกันดีกว่า

ฟ้าผ่าคืออะไร
“ฟ้าผ่า” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ก็จะมีลมและเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า โดยประจุลบส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านล่างของก้อนเมฆ ขณะที่ประจุบวกจะอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ
ประจุลบด้านล่างก้อนเมฆมีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกสิ่งที่อยู่ ภายใต้ก้อนเมฆเป็นประจุบวกได้ทั้งหมด พร้อมทั้งดึงดูดให้ประจุบวกวิ่งขึ้นมาหาประจุลบได้ ทั้งนี้หากประจุลบใต้ก้อนเมฆมีปริมาณมากพอ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆค่อยๆ แตกตัว ประจุลบสามารถวิ่งลงมาด้านล่างและบรรจบกับประจุบวกที่วิ่งขึ้นมา เกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด
โอกาสเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า
ทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ฯลฯ และจุดที่สูงในบริเวณนั้นๆ เช่น ต้นไม้ อาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น
ใช้โทรศัพท์ จะถูกฟ้าผ่าหรือไม่
โทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าได้แน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้ พร้อมกันนี้ยังมีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจจะมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ เป็นผลข้างเคียง แต่ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่า อย่างไรก็ดีการใช้โทรศัพท์มือถือในสภาวะที่เกิดฝนฟ้าคะนองก็นับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากน้ำเข้าโทรศัพท์ก็มีโอกาสทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : สวทช