หลายคนอาจเกิดความสงสัยเวลาอ่านข่าว หรือดูข่าว แล้วเห็นว่าศาลพิพากษาลงโทษจำคุก เช่น 3 ปี 18 เดือน, 2 ปี 12 เดือน , 5 ปี 48 เดือน ทำไม่จำนวนเดือนที่เกินจาก 12 เดือนมาไม่ตัดเป็น 1 ปี ไป เช่น 3 ปี 18 เดือน ทำไมไม่ตัดสิน 4 ปี 6 เดือนไปเลย วันนี้จะพามาหาคำตอบกัน
เรื่องการนับโทษจำคุก จะต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา 21 ระบุว่า “ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ
เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด”
จากข้อกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ถ้าโทษจำคุกกำหนดเป็นเดือน ให้ 1 เดือน = 30 วัน แต่ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ พูดง่ายๆ ก็คือปีชนปีตามปฏิทิน
ในส่วนของตัวเดือนนี้เองจะเห็นได้ว่า หากศาลกำหนดโทษ 2 ปี 24 เดือน จะต้องคำนวณดังนี้
โทษ 2 ปี ให้คำนวณตามปฏิทินราชการคือ 365 วัน x 2 = 730 วัน
โทษ 24 เดือน ให้คำนวณ 1 เดือน = 30 วัน คือ 24 เดือน x 30 = 720 วัน
ดังนั้น โทษจำคุกทั้งหมด คือ 730 วัน + 720 วัน = 1,450 วัน
แต่ถ้าหากยุบรวมโทษ 2 ปี 24 เดือน เป็น 4 ปี (โดยคำนวณ 12 เดือน เป็น 1 ปี) ก็จะได้ 365 วัน x 4 = 1,460 วัน
จากการคำนวณดังกล่าวจะได้ความแตกต่าง ซึ่งแตกต่างกันถึง 10 วัน ด้วยเหตุนี้การคำนวณดังกล่าวก็เพื่อไม่ให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกนั้นเสียเปรียบ